Agfa Ocean เปลี่ยนกล้องฟิล์มให้กันน้ำ

คำถามยอดฮิตตลอดกาลของคนใช้กล้องฟิล์มคือ "ไปทะเลเอาฟิล์มอะไรไปดี" ตอบกันยังไงก็ไม่มีผิดครับ เพราะมันใช้ฟิล์มอะไรก็ได้จริงๆ  แต่ถ้าเราเปลี่ยนคำถามใหม่เป็น "ไปทะเลเอากล้องอะไรไปดี" วันนี้ผมได้คำตอบแล้วครับ

AGFA LEBOX OCEAN 
กล้องตัวนี้คือกล้องพร้อมฟิล์ม หรือกล้องใช้แล้วทิ้งนั่นเองครับ มันเกิดมาเพื่อเป็นกล้องฟิล์มที่ใช้ถ่ายตอนไปทะเลหรือเล่นน้ำในสระโดยเฉพาะ  นั่นก็เพราะว่ามัน กันน้ำ ได้นั่นเอง 

ไหน ลองมาดูหน้าตาหน่อยซิ

อันนี้เป็นหน้าตาของรุ่นที่ผมนำมารีวิวนะครับ


ซึ่งปัจจุบันได้ถูกเปลี่ยนหน้าตาไปเป็นแบบนี้แล้วครับ

แต่ว่าเปลี่ยนแค่หน้าตานะครับ การใช้งานยังเหมือนกันทุกประการ    และพอพูดถึงการใช้งานก็พาไปชม Spec กันซะหน่อยครับ

- ใช้ฟิล์ม ISO 400 ถ่ายได้ 27 ภาพ 
- ไม่มีแฟลชนะจ๊ะ
- การใช้งาน ใช้ถ่ายได้ทั้งบนบกและในน้ำ
- ถ้าถ่ายบนบก ต้องอยู่ในสภาพแสงที่สว่างมากๆครับ และไม่ควรใช้ถ่ายในที่ร่มเพราะมืดแน่นอน  และมีระยะชัดตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไป พูดง่ายๆถ้าเราถ่ายอะไรที่มือแตะถึง รับรองว่าออกมาเบลอชัวร์ เพราะฉะนั้นให้ถอยออกมาเยอะๆจากวัตถุที่เราจะถ่ายครับ
- ถ้าถ่ายใต้น้ำ ต้องอยู่ในน้ำที่ใสมากๆ และมีแสงสว่างในน้ำมากๆ  มีระยะชัดสั้นๆอยู่ในช่วง 1-2 เมตรเท่านั้น  ส่วนเรื่องความลึก กันน้ำได้ลึกสูงสุด 5 เมตรครับ

อ่ะมาดูตอนแกะกล่อง  ภายนอกจะเห็นว่ากล้องมีเคสใสๆคลุมอยู่รอบตัวกล้องครับ ดูแล้วก็มั่นใจดีครับว่ากันน้ำได้แน่ๆ  ส่วนเชือกสีเหลืองเส้นนี้มีประโยชน์ที่สุดตอนอยู่ในน้ำครับ  ผมใช้มันคล้องข้อมือแล้วว่ายน้ำไปด้วยสะดวกมากครับ


ที่ด้านหลังจะมีวิธีใช้งานง่ายๆให้ดูครับ

ที่ด้านบนมีชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของกล้องครับ ปุ่มยางสีเหลืองใหญ่ๆคือปุ่มชัตเตอร์ ส่วนแป้นยางสีดำคือตัวเลื่อนฟิล์ม  และจะมีช่องบอกจำนวนภาพที่เหลืออยู่ข้างซ้ายครับ อาจจะมองยากซักหน่อย


วิธีใช้งานง่ายมากครับ
1. เลื่อนตัวเลื่อนฟิล์มไปทางขวา มันจะหนืดๆหน่อยนะครับและตอนหมุนเสียงจะไม่ดังเหมือนกล้องใช้แล้วทิ้งแบบปกติ  ให้เราหมุนตัวเลื่อนฟิล์มจนมันหมุนต่อไม่ได้ครับ
2. เล็งที่ช่องมองภาพ
3. กดชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพ ซึ่งให้กดจนสุดจริงๆนะครับ ถึงจะมีเสียงแช๊ะเบาๆ
ถ้าจะถ่ายภาพต่อไป ก็เริ่มจากข้อ 1 ไปข้อ 3 เรื่อยๆครับ 

ผมไม่แน่ใจนะครับว่ามันเป็นทุกตัวหรือเปล่า คือตอนเลื่อนฟิล์ม มันมีข้อสังเกตนิดนึงครับ พอเราเริ่มหมุนมันจะหนืดๆอย่างที่ผมบอกและจะมีเสียงเบาๆให้ได้ยิน  และพอมันสุดแล้วให้หยุดหมุน แต่ๆๆ มันมักจะหมุนได้ต่ออีกครับ ให้ฟังเสียงตอนหมุนด้วยนะครับ ถ้าหมุนแล้วมันดังกว่าตอนแรกมากๆ ให้หยุดหมุนไปเลยครับ  ไปกดชัตเตอร์ถ่ายต่อได้เลยครับ

โอเคพร้อมละครับ ออกทะเลกันเถอะ

เฮ้ยๆๆ ใช้ได้อยู่นะครับ ภาพไม่ได้คมอะไรมาก แต่สีสันโอเคเลย  ไปๆลงน้ำต่อเลยละกัน

จะดำน้ำละน้าาาา

ต้องแจ้งก่อนนะครับว่าน้ำทะเลในวันนั้นใสดีมากครับ แต่แสงสว่างในน้ำไม่ค่อยดีนัก บวกกับจุดที่ผมลงดำผิวน้ำ เป็นหาดที่คลื่นลมค่อนข้างแรงครับ ทำให้ทรายในน้ำฟุ้งๆอยู่บ้าง ที่ความลึกไม่เกิน 2 เมตร

มีใครมองเห็นปลาบ้างไหม

ลองลงน้ำในสระก็จะใสขึ้นบ้างครับ

ก็ได้ภาพมาประมาณนี้ครับ  ทีนี้ลองมาดูว่าถ้าเราฝืนธรรมชาติของกล้อง คือเอาไปถ่ายในที่แสงน้อยๆมันจะเป็นยังไงบ้าง

 มืดตึ้บตามคาดครับ อย่าลองกันเด็ดขาดครับเพราะว่าอย่าลืมว่ากล้องตัวนี้ไม่มีแฟลชนะครับผม


เท่าที่ได้ทดลองใช้มา 1 ตัวถ้วนนะครับ สรุปได้ดังนี้
- ภาพที่ได้นั้นคุณภาพก็คล้ายๆกับกล้องใช้แล้วทิ้งทั่วๆไปครับ คือไม่ได้มีคุณภาพดีมากเมื่อไปเทียบกับกล้องฟิล์ม SLR หรือ กล้องคอมแพ็ค  แต่ภาพที่ได้ให้สีสันสวยดีนะครับ
- กันน้ำได้จริงๆครับไม่ต้องกลัวเรื่องรั่ว  แถมลอยน้ำได้ครับไม่จม เรียกว่าลอยกันเป็นรองเท้าแตะเลยทีเดียว

- ถ่ายบนบกแสงดีๆ ได้ภาพสวยๆสบายๆ แต่ถ้าถ่ายใต้น้ำ ผมว่ามันจะต้องเป็นวันที่น้ำใสๆๆๆๆจริงๆ มีแดดส่องทะลุลงมาจนมันสว่างจริงๆครับภาพคงจะออกมาดีกว่านี้
- ห้ามถ่ายที่มืดเด็ดขาด
- ผมว่ามันเหมาะมากถ้าจะประยุกต์ไปใช้ถ่ายตอนงานสงกรานต์  สาดมาเลยกล้องเราไม่กลัวเปียกกกกก ๕๕๕๕

 

โอเคครับมาถึงภาคของการงัดแงะกันตามธรรมเนียม  เมื่อเราถ่ายหมดแล้วก็ต้องมาเอาฟิล์มออกจากกล้องกัน  ข้อสังเกตนะครับถ้าถ่ายหมดแล้วตัวเลื่อนฟิล์มจะเลื่อนได้แบบไม่มีที่สิ้นสุดเลยทีเดียว 

ในส่วนของการงัดแงะนะครับผมขอแจ้งก่อนว่า คราวนี้ไม่ต้องระวังเรื่องไฟดูด เพราะว่ามันไม่มีวงจรไฟฟ้าอะไรทั้งนั้น คืออยากจับตรงไหนจับได้เลยไม่ต้องกลัว

แต่สิ่งที่ต้องกลัวคือขั้นตอนในการแงะครับ มันมีหลายจุดและบางจุดบอบบางมาก  ผมต้องบอกก่อนนะครับว่าการงัดครั้งนี้ผมทำพลาดจนได้  ไปทำชิ้นส่วนสำคัญหักเข้า เซ็งๆๆๆ

อ่ะมาเริ่มแกะกล้องเพื่อเอาฟิล์มออกไปล้างกันดีกว่าครับ


เริ่มจากการถอดสายคล้องออกก่อน

จากนั้นเราจะมาแกะเคสใสออก โดยให้ใช้ไขควงแบนขนาดเล็ก งัดสลักแบบในภาพนี้นะครับ มีทั้งหมด 6 จุดด้วยกัน

แต่มันจะมีตัวนึงครับที่งัดออกยากหน่อยเพราะมันติดแป้นของตัวเลื่อนฟิล์ม ให้ใช้ไขควงแทงเข้าไปตรงร่องนี้แล้วค่อยๆงัดครับ

หลังจากพยายามอยู่ซักพักฝาหลังก็ออกมาแล้ว

ต่อไปเราจะต้องเอาตัวกล้องอกมาจากเคสครับ ให้ค่อยๆยกด้านซ้ายของกล้องขึ้นมาก่อนแล้วตะแคงกล้องออกมาทางด้านตรงข้ามตัวเลื่อนฟิล์มครับ  ตรงนี้จะสังเกตว่าแป้นตัวเลื่อนฟิล์มจะยังติดอยู่กับฝาเคสด้านหน้านะครับ  

หลังจากตรงนี้ให้ค่อยๆดันแป้นตัวเลื่อนฟิล์มออกจากเคสครับ โดยให้ดันสลักสีดำสองตัวที่ล็อคเคสเอาไว้ออกครับ โดยดันจากด้านในเคสนะครับ  และข้อสำคัญ อย่าพยายามดึงแป้นตัวเลื่อนฟิล์มสีดำนี้ออกทางด้านบน โดยไม่ปลดสลักสีดำสองตัวนี้ออกก่อนนะครับ
นั่นแหละครับคือจุดที่ผมพลาดจุดแรก ก็เลยไม่มีรูปให้ดูเพราะผมเล่นดึงแป้นออกทางด้านบนดื้อๆเลย  ผลคือ สลักหักไป 1 ตัวครับ

เศร้าเลยต่อกลับไม่ได้ด้วย 

อีกอย่างนะครับมันจะมีแกนสีดำเล็กๆอันนึงออกมาด้วย ตัวนี้คือแกนปุ่มชัตเตอร์ครับ อย่าทำหายนะครับ ตอนใส่กลับให้เอาแกนทางด้านยาวเข้าหาตัวแป้นตัวเลื่อนฟิล์มครับ

หลังจากเรียบร้อยแล้วเราก็จะได้กล้องสีดำโล้นๆมา 1 ตัว แถมเล็กเอามากๆจ้า

ก็เริ่มมาเอาฟิล์มออกจากกล้องต่อเลยครับ โดยให้ใช้ไขควงแบนตัวเล็ก เริ่มงัดที่ด้านข้างของกล้อง ทางฝั่งแป้นตัวเลื่อนฟิล์มครับ แล้วก็ค่อยๆไล่เปิดโดยรอบไปเรื่อยๆ จนมาเจอสลักอีกสองตัวที่ด้านล่างของกล้องครับ เบาๆมือนะครับ เพราะผมพลาดจุดที่สองตรงนี้ครับ งัดซะสลักล็อคทั้งสองตัวขาดเลย แต่ไม่หนักมากครับยังพอมีวิธีแก้ไขได้  เอาเป็นว่าพอแกะฝาหลังได้แล้วเราก็จะเจอฟิล์มอยู่ด้านในครับ ให้เอาไปล้างได้เลย

เรียบร้อยครับสำหรับการแกะกล้องเอาฟิล์มออกไปล้าง   แต่ยังไม่หมดนะครับยังมีต่ออีกหน่อยสำหรับคนที่ซนๆ  โดยคำถามต่อไปที่เกิดขึ้นในหัวว่า "แล้วมันโหลดฟิล์มเข้าไปใหม่ได้ไหม"  ขอตอบว่า "ได้ครับ"

มาลุยเลย

อุปสรรคสำหรับการโหลดฟิล์มเข้าไปใหม่มีอยู่อย่างเดียวครับนั่นคือ เราต้องทำให้แป้นตัวเลื่อนฟิล์มหมุนกลับด้านให้ได้   คือโดยปกติเราจะใช้นิ้วโป้งขวาเลื่อนแป้นฟิล์มไปทางขวาเพื่อเลื่อนฟิล์มในการถ่ายรูปใช่ไหมครับ  คราวนี้ถ้าเราจะโหลดฟิล์มแป้นตัวเลื่อนต้องหมุนไปทางด้านซ้ายครับ ซึ่งมันจะติดเจ้าขายาวๆตัวนี้ล็อคอยู่

วิธีคือเราต้องหาเข็มหรือลวดหนีบกระดาษ หรืออะไรซักอย่างมางัดขาตัวนี้ขึ้นครับ

ซึ่งตอนที่เรางัดขึ้นจะทำให้ตัวเลื่อนฟิล์มหมุนไปทางซ้ายได้แล้ว   แต่ขั้นตอนการงัดขาล็อคตัวนี้จะต้องทำหลังจากที่ใส่ฟิล์มเข้าไปในกล้องแล้วปิดฝาหลังแล้วนะครับ  โดยให้แหย่เข็มผ่านทางรูเล็กๆด้านบนกล้องครับ

ก่อนโหลดฟิล์มให้เราหมุนแป้นนับจำนวนฟิล์มให้กลับมาที่จุดเริ่มต้นครับ

จากนั้นก็เริ่มโหลดฟิล์ม  โดยฟิล์มที่จะนำมาใช้ควรเป็นฟิล์ม ISO เดียวกันกับม้วนที่กล้องให้มานะครับ คือ ISO 400 หรือสูงกว่าก็ได้ครับ เป็น 800 เลยก็ได้ แต่อย่าใช้ ISO ต่ำกว่า 400 นะครับ ภาพออกมามืดแน่นอน  ในที่นี้ผมลองโหลดโดยใช้ฟิล์ม Kodak Ultramax 400 ครับ

ให้ดึงหัวฟิล์มมาเกี่ยวกับแกนทางด้านซ้ายมือครับ ดูดีๆนะครับให้หนามเตยของฟิล์มมันลงในเดือยด้วย

จากนั้นก็ค่อยๆปิดฝาหลังเข้าที่เดิมครับ โดยในระหว่างที่ปิดให้เราใช้ไขควงแฉกตัวเล็กขนาดพอดีกับรูด้านล่างของแกนทางด้านซ้าย จิ้มคาเอาไว้ด้วยนะครับ  

พอปิดฝาหลังแล้ว ผมเองเจอปัญหาว่าที่ด้านล่างของกล้องในส่วนที่สลักฝาปิดมันหักไปสองอัน ทำให้แนวเส้นปะสีแดงมันปิดไม่สนิทผมเลยแก้ปัญหาด้วยการเอาผ้าเทปมันแปะแก้ขัดไว้แทนครับ

เมื่อเรียบร้อยแล้ววิธีมันจะทุลักทุเลหน่อยนะครับ นั้นคือ
1.เราต้องถือกล้องด้วยมือซ้าย
2.ใช้เข็มแทงเข้าไปในรูปด้านบนแล้วกดเข็มลงเพื่อดันขาล็อกตัวเลื่อนฟิล์มที่ผมเคยบอกไว้ ถ้าถูกต้องตัวเลื่อนฟิล์มจะหมุนมาทางซ้ายได้ครับ ก็ให้ดันเข็มไว้แบบนั้นนะครับยากหน่อย
3.ที่มือขวาให้เราหมุนไขควงแฉกแบบทวนเข็มนาฬิกาครับ หมุนไปเรื่อยๆ ระหว่างหมุนถ้าถูกต้องแป้นตัวเลื่อนฟิล์มจะต้องหมุนตามไปด้วยนะครับ 
4.หมุนไขควงไปจนเริ่มตึง  ตึงชนิดที่เรียกว่าไปต่อไม่ได้แน่ๆ ให้หยุดครับ

เสร็จแล้วครับเท่ากับเราโหลดฟิล์มพร้อมใช้งานได้อีกรอบแล้ว

แต่เสียดายนะครับ ที่ผมดันไปรีบร้อนจนสลักของแป้นตัวเลื่อนฟิล์มของเคสหักไปขานึง ซึ่งทดลองแล้วถ้าตัวนี้หักจะไม่สามารถทำให้กล้องกันน้ำได้ครับ อดเลย เสียดายเคสจริงๆ  แต่ไม่เป็นไรครับยังได้กล้องแบบไม่กันน้ำตามปกติไปถ่ายในสถานการณ์ทั่วไปต่อครับ  

โอเคครับถ้าได้ภาพจากการโหลดฟิล์มรอบสองมาแล้วจะมาอัปเดตในบทความนี้นะครับ  ยังไงวันนี้ขอพอแค่นี้ก่อนครับ  ฝากไปเล่นกันนะครับสำหรับเจ้า Agfa Lebox Ocean ตัวนี้  ขอบคุณมากครับผม

โน้ต อะฟิล์ม


Leave a comment